กระทรวงวัฒนธรรม จัด “มหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ” ยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ ...

กระทรวงวัฒนธรรม จัด “มหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ” ยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ “ท่องเที่ยว ศิลปะ ดนตรี และอาหาร”
2025-04-06 08:25:12
img-news

   นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ โดยมีนายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวง ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และ เข้าร่วมงาน ณ ชั้น 5 บริเวณโถงทางเข้า รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

   นางสาวพลอย ธนิกุล กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย “เศรษฐกิจวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน” โดยมีกรอบแนวคิดหลักคือขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรม   โดยการส่งเสริมศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของ “คน” มาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อส่งเสริม Soft Power ในการยกระดับทักษะและปลดล็อกศักยภาพของคนไทย คู่ขนานไปกับการเพิ่มการเข้าถึงศิลปวัฒนธรรมของผู้คน โดยโครงการส่งเสริมทักษะสู่การเป็นแรงงานศักยภาพสูง ตั้งเป้าหมายว่าผู้ประกอบการชุมชน จำนวน 2,400 คนได้รับการพัฒนาส่งเสริมทักษะด้าน Soft Power ซึ่งจะช่วยเหลือผู้ประกอบการนำความรู้ นำทักษะไปใช้สร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว

   นางสาวพลอย ธนิกุล กล่าวอีกว่า กระทรวงวัฒนธรรม จึงร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ภายใต้โครงการขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power ผ่าน 11 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์องค์ความรู้ด้านที่เป็น Soft Power ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง โดยจัดฝึกอบรม Upskill/Reskill จากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Soft Power ใน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ การท่องเที่ยว ศิลปะ ดนตรี และอาหาร รวมถึงขยายโอกาสทางการตลาด และส่งเสริมการเจรจาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power ผ่านกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวน 5 ภูมิภาค ทั้งสิ้น 2,400 คน หลังจากฝึกอบรม Upskill/Reskill จากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Soft Power  แล้วได้คัดเลือกผู้ประกอบการที่มีผลงานโดดเด่น จำนวน 200 ผลงาน/คน เพื่อเข้าร่วมงานมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ

   ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า หลังจาก วธ.จัดอบรมส่งเสริมทักษะสู่การเป็นแรงงานศักยภาพสูงแล้ว จึงจัดงาน “มหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ”ขึ้น เพื่อจัดแสดงสินค้าที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมและมีผลงานที่โดดเด่น จำนวน 200 ผลงาน/คน ในการเป็นเวทีแสดงศักยภาพ เจรจาการค้า ผลักดันสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมให้มีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ วธ.ยังร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทยในการดึงภาคเอกชน รวมถึงประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มผู้ซื้อกลุ่มเป้าหมาย ผู้ซื้อรายใหญ่ที่มี ความสนใจในสินค้าและบริการวัฒนธรรม และเป็นที่น่ายินดี เพราะเบื้องต้นได้รับคำแนะนำว่าผลิตภัณฑ์ชุมชนไทย กำลังเป็นที่จับตามองจากตลาดต่างประเทศ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ที่หายาก เป็นงานฝีมือที่มีคุณค่าซึ่งภาคเอกชนมีความสนใจต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยเป็นจำนวนมาก เพื่อสนองความต้องการผู้บริโภคนำไปจำหน่ายในช่องทางการตลาดของตนเองทั้ง offline และ online และเชื่อว่าเวทีเจรจาจับคู่ธุรกิจจะเกิดการเจรจาธุรกิจในงานได้ไม่น้อยกว่า 200 คู่ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

   ด้าน ผศ.ดร. ดร.รัชนี กุลยานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “สถาบันฯ มีพันธกิจหลักสำคัญ คือ การดำเนินงานและสนับสนุนการวิจัย พัฒนาประยุกต์องค์ความรู้ และส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพขั้นสูง โดยมีภารกิจด้านการสอนและวิจัยให้บริการวิชาการแก่สังคม สำหรับโครงการส่งเสริมทักษะสู่การเป็นแรงงานศักยภาพสูง ทางสถาบันฯ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันวัฒนธรรมสร้างสรรค์ 4 สาขา (ท่องเที่ยว ศิลปะ อาหาร และดนตรี) เพื่อขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยสู่ความเป็นสากล อีกทั้งเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำแผนและแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ ให้เป็นรูปธรรมเกิดผลสัมฤทธิ์บรรลุตามวัตถุประสงค์ และเกิดประโยชน์ทั้งในระดับชุมชนและเครือข่ายผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมอย่างสูงสุดต่อไป โดยจะมีการดำเนินการใน 6 ขั้นตอน ได้แก่  (1) การจัดทำกรอบแนวคิด รูปแบบการดำเนินการ และแผนการดำเนินงาน (2) การศึกษา วิเคราะห์องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมไทยที่เป็น Soft Power (3) การพัฒนาทักษะสู่การเป็นแรงงานศักยภาพสูง (4) การจัดมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจราธุรกิจ (5) การประชาสัมพันธ์ และ (6) การประเมินผล สถาบันฯ ขอขอบพระคุณ กระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้มอบโอกาสให้ สถาบันฯ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานโยบายขับเคลื่อน 1 ครอบครัว 1 Soft Power ผ่าน 11 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการทั่วประเทศ ให้ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และพัฒนาเศรษฐกิจด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย สู่การมี Soft Power ที่สามารถแข่งขันได้ในเวทีสากลต่อไปในอนาคต”

   ด้าน ดร.สุรภีร์ โรจนวงศ์ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทย ในฐานะที่ปรึกษาของโครงการด้านการจับคู่เจรจาธุรกิจ กล่าวว่า “สมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทย เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นสะพานเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยกับตลาดโลก โดยพันธกิจหลักของสมาคมฯ คือ การสนับสนุนการตลาด การสร้างโอกาสทางธุรกิจ และการพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันในเวทีนานาชาติ สำหรับงานมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ สมาคมฯ มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ Trader ห้างสรรพสินค้า สมาคมการค้าภายใต้ สภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม และช่องทาง e-commerce แต่ที่สำคัญที่สุดคืออุตสาหกรรม HoReCa หรือ โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังเติบโตและต้องการสินค้าที่มีเอกลักษณ์และคุณภาพสูง ซึ่งอุตสาหกรรม HoReCa ไม่ใช่เพียงแค่ตลาดขนาดใหญ่ แต่ยังเป็นโอกาสในการนำเสนอสินค้าที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างแท้จริงตั้งแต่สิ่งทอพื้นเมือง เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร งานฝีมือ ของตกแต่ง ไปจนถึงผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีรากฐานจากภูมิปัญญาท้องถิ่น หากเราสามารถพัฒนาและยกระดับสินค้าให้เป็นสินค้าติดดาวที่มีมูลค่า ก็จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เจรจาการค้ากับผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลกได้ โดยขณะนี้มีกลุ่มเอกชนรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศที่ให้ความสนใจ อาทิ กลุ่มบริษัท Trader ที่จะนำสินค้าไปจำหน่ายในจีนและสนามบินหลักในจีน กลุ่มอุตสาหกรรมหัตถกรรมสร้างสรรค์ กลุ่มห้างสรรพสินค้าตลาดรีเทล สมาคมการค้าต่างๆ ที่ส่งเสริมหัตถกรรมไทย รวมถึงกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร และตลาด e-commerce ระดับสากล ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสินค้าไทยที่สามารถไปไกลได้มาก สำหรับ “งานมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ” กำหนดจัดขึ้น 5 วัน ระหว่างวันที่ 18 -22 เมษายน 2568 ตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น. ใช้พื้นที่ 2 โซนของศูนย์การค้าสยามพารากอน คือ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 และ พาร์ค พารากอน ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยได้จัดแบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาจัดแสดงและจัดจำหน่ายในแต่ละโซน ประกอบด้วย บริเวณพาร์ค พารากอน ชั้น M จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยขนาดเล็กและผลิตภัณฑ์อาหาร อาหารประเภทสมุนไพร รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นแปรรูปจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย บริเวณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยที่มีความโดดเด่นใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ การท่องเที่ยว ศิลปะ ดนตรี และอาหาร จากจำนวน200 ผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมและได้รับการพัฒนา อาทิ ผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ผลิตภัณฑ์  เครื่องแต่งกายและเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์เอกอรรถหัตถศิลป์ เช่น ของใช้ งานฝีมือ งานจักสานของที่ระลึก รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว ดนตรี และอาหาร นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่น่าสนใจอีกมากมาย กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญ ผู้ผลิต/ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า/ตัวแทนจำหน่ายสินค้า องค์กรและหน่วยงาน ชั้นนำ รวมถึงผู้ที่สนใจทุกท่านเข้าร่วมเจรจาธุรกิจและชมงาน มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนส่งเสริมเศรษฐกิจ 1 ครอบครัว 1 Soft Power ในงานมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจด้วย

0:00
0:00
/
0:00
0:00
/
0:00