สพฐ. เผย โรงเรียนยังมีที่ว่างรับ ม.1 ม.4 อีกกว่า 3 แสนคน ยืนยัน เด็กทุกคนมีที่เรียนแน่นอน พร้อมจัดสร...
- ข่าวการศึกษา
- สพฐ. เผย โรงเรียนยังมีที่ว่างรับ ม.1 ม.4...

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สพฐ. ได้ดำเนินการรับนักเรียนในระดับชั้น ม.1 และ ม.4 โดยกำหนดวันสอบคัดเลือกเป็นวันที่ 5-6 เมษายน 2568 และรับมอบตัวนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือก แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา นั้น ขณะนี้มีจำนวนนักเรียนที่มีที่เรียน และจะเข้าเรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ. จำนวนกว่า 1 ล้านคน (1,097,902 คน) แบ่งเป็น ระดับอนุบาล จำนวน 218,426 คน (23,862 ห้องเรียน) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 266,846 คน (21,699 ห้องเรียน) ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 372,206 คน (14,826 ห้องเรียน) และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 240,324 คน (8,116 ห้องเรียน)
สำหรับนักเรียนที่ยังไม่มีที่เรียน สพฐ. ยืนยันว่ายังมีที่ว่างในโรงเรียนที่ยังรับนักเรียนไม่เต็มแผนการรับ จำนวนกว่า 3 แสนที่นั่ง ในระดับชั้น ม.1 จำนวน 217,286 คน และระดับชั้น ม.4 จำนวน 97,511 คน ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 21 เมษายน 2568 พบว่า มีนักเรียนมายื่นความจำนง ขอรับการจัดสรรที่เรียน ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 18,737 คน แบ่งเป็น ระดับชั้น ม.1 จำนวน 14,844 คน และระดับชั้น ม.4 จำนวน 3,893 คน โดยจะประกาศผลฯ และมอบตัว ภายในวันที่ 27 เมษายนนี้ ส่วนโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะประกาศผลการจัดสรรที่เรียนในวันที่ 23-24 เมษายนนี้ และภายหลังจากการประกาศผลฯ คาดว่าโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะมีที่นั่งว่างคงเหลืออีกจำนวนกว่า 6,500 คน โดยนักเรียนที่ยังไม่มีที่เรียน สามารถยื่นความจำนงได้ถึงวันที่ 22 เมษายน 2568 ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาของ สพฐ. ทุกเขต เพื่อดำเนินการจัดสรรที่เรียนให้นักเรียนได้มีที่เรียนทุกคน
ทั้งนี้ แม้ว่าเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 แล้ว หากโรงเรียนใดยังมีที่นั่งว่าง สามารถรองรับนักเรียนได้ นักเรียนที่ยังไม่มีที่เรียนหรือนักเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา (อายุระหว่าง 3-18 ปี) สามารถกลับเข้ามาเรียนได้ ณ โรงเรียนของ สพฐ. ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และนโยบาย “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) ของ สพฐ. เพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
“สำหรับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนนั้น สพฐ. ได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณฯ ในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน แล้ว ทั้ง 5 รายการ (ค่าจัดการเรียนการสอน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน) ให้นักเรียนได้รับหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าเครื่องแบบนักเรียน ครบทุกคนก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อช่วยลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง พร้อมทั้งกำชับไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาทุกแห่ง ในเรื่องแนวทางการยกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งกายของนักเรียนในช่วงเปิดภาคเรียน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 ที่ผ่านมา โดยเปิดโอกาสให้สถานศึกษาสามารถพิจารณา ยกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งกาย ให้แก่นักเรียนได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเป็นสำคัญ เพื่อให้การเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 เป็นไปอย่างเรียบร้อย ให้นักเรียนทั่วประเทศ “เรียนดี มีความสุข” อย่างแท้จริง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว